25 มิ.ย. 2560

เลือกกินคาร์โบไฮเดรตอย่างไรหุ่นสวย


          คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายไม่ควรขาด มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ คาร์โบไฮเดรตชนิดดีและคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ซึ่งรู้จักกันอีกในชื่อคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว บางท่านอาจกำลังสับสนว่าชนิดไหนที่ควรกิน ชนิดไหนควรหลีกเลี่ยง สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักอยู่ตอนนี้ควรต้องเคร่งครัดกับอาหารการกินมากกว่าปกติอีกเท่าตัว แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรเลือกกินแบบไหนดี

คาร์โบไฮเดรตชนิดดี (Good Carbs) คืออะไร ?

          คาร์โบไฮเดรตชนิดดีหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน คือ คาร์โบไฮเดรตหรืออาหารประเภทแป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี หรือแทบจะไม่ผ่านกรรมวิธีดัดแปลงใดๆ มาเลย ซึ่งแน่นอนว่า คาร์โบไฮเดรตชนิดนี้จะคงคุณค่าสารอาหารไว้อย่างเต็มเปี่ยม ร่างกายจะได้รับคุณประโยชน์จากแป้งชนิดนี้เข้าไปเต็ม ๆ โดยที่แทบไม่กระทบไปถึงระดับน้ำตาลในเลือด สามารถรับคาร์โบไฮเดรตชนิดดีได้จากการเลือกกินข้าวและแป้งไม่ขัดสี, ถั่ว, ธัญพืช, ผักใบเขียว, พืชที่มีฝัก, มัน, โฮลวีท, โฮลเกรน รวมทั้งซีเรียลและพาสต้าโฮลวีท ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากนมและโยเกิร์ตไขมันต่ำยังมีชื่ออยู่ในรายการอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดดีด้วยเพียงแต่มีกระแสขัดแย้งอยู่เยอะพอสมควร ผลิตภัณฑ์จากนมและโยเกิร์ตไขมันต่ำเลยยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างสักเท่าไร

คุณประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตชนิดดี

ไฟเบอร์สูง
คาร์โบไฮเดรตเซิงซ้อนหรืออาหารในกลุ่มแป้งชนิดดีต้องไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลง ขัดสี หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรผ่านกระบวนการเหล่านี้มาน้อยที่สุด นั่นก็เท่ากับว่าอาหารประเภทแป้งชั้นดีเหล่านี้ยังคงอุดมไปด้วยไฟเบอร์และคุณประโยชน์เต็มที่ เมื่อทานเข้าไปแล้ว ร่างกายจะย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่จะได้ดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินได้อย่างครบถ้วนที่สุด ซึ่งนั่นทำให้กระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเกิดขึ้นช้า เท่ากับร่างกายจะมีพลังงานต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ อิ่มอยู่ท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิวบ่อย อีกทั้งยังให้พลังงานสูงในขณะที่ให้แคลอรี่น้อย แถมยังช่วยขับถ่ายสารพิษในร่างกายผ่านของเสียได้มากขึ้น

ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ
ดัชนีน้ำตาล (GI) เป็นตัวบ่งชี้ระดับน้ำตาลของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตว่าอาหารประเภทแป้งแต่ละอย่างจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากน้อยแค่ไหน หากรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดนั้นๆ ไปภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ซึ่งค่าดัชนีน้ำตาล (GI) ของคาร์โบไฮเดรตชนิดดีเกือบทุกชนิดก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ นั่นก็หมายความว่า คาร์โบไฮเดรตชนิดดีจะส่งผลกระทบไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินได้น้อยจนเกือบไม่เกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ เลย

อุดมไปด้วยสารอาหารดีๆ
ในคาร์โบไฮเดรตชนิดดีอัดแน่นไปด้วยวิตามินจากธรรมชาติ เกลือแร่ เอนไซม์ และไฟโตนิวเทรียนท์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังและบำรุงสุขภาพร่างกายให้ฟิตเฟิร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหนาแน่นของพลังงานต่ำ (Low Energy-Density)
ค่าความหนาแน่นของพลังงานในอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดดี (ยกเว้นถั่วและธัญพืช) จะค่อนข้างต่ำ ซึ่งก็เท่ากับว่ากินเข้าไปเยอะก็ยังให้พลังงานแคลอรี่กับร่างกายน้อย แต่อิ่มอยู่ท้องมากกว่า

ประสิทธิภาพในการเผาผลาญสูง
คาร์โบไฮเดรตชนิดดีจะช่วยกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกายให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบรรดาไขมันส่วนเกินก็จะถูกเบิร์นออกไปอย่างง่ายดาย

คาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี (Bad Carbs) คืออะไร?

          คาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว คือ คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการขัดสี ปรุงแต่ง ดัดแปลง เพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยขึ้น รับประทานง่ายขึ้น และคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้มักจะถูกแต่งเติมจนร่างกายต้องได้รับสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่างสารกันบูด สีและกลิ่นสังเคราะห์ รวมทั้งน้ำตาลที่ยิ่งกระตุ้นให้คาร์โบไฮเดรตเหล่านี้เปลี่ยนรูปเป็นน้ำตาลได้เร็วขึ้นด้วย ส่งผลกระทบไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายให้พุ่งสูง เป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่อันตรายต่อสุขภาพ คาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี เช่น แป้งขัดสีทุกชนิด ข้าวขาว ขนมปังขาว แพนเค้ก ขนมเค้ก พาสต้า(ขัดสี) และขนมทำจากแป้งอย่างวาฟเฟิล ของหวาน น้ำหวาน ลูกอม ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม นม เป็นต้น

โทษของคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี

เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ง่าย
คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวหรืออธิบายให้เข้าใจง่าย คือเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ดีนั้น มีข้อด้อยตรงที่เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ง่าย และเกือบจะทันทีที่กลืนคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ลงสู่กระเพาะ ดังนั้นเวลาที่กินน้ำหวานหรือขนมหวานอร่อยๆ จึงรู้สึกสดชื่นเหมือนกระตุ้นพลังงานในร่างกายขึ้นมาทันที แต่พลังงานจากน้ำตาลที่เปลี่ยนรูปมาจากคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวแบบนี้มักจะเป็นปริมาณพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งพอเหลือกินเหลือใช้ก็จะถูกสะสมอยู่ในร่างกาย อีกสักพักก็แปรสภาพเป็นไขมันสะสมเพื่อเก็บเอาไว้เป็นพลังงานสำรอง และหากไขมันเหล่านี้ไม่ถูกเบิร์นออกก็จะพอกพูนอยู่ตามลำตัวจนกลายเป็นคนอ้วนในที่สุด

อีกทั้งเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจากคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่กินเข้าไป ตับอ่อนจะเร่งผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้เกิดความสมดุล ทว่าหากเรากินคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีจนติดเป็นนิสัย ตับอ่อนก็จะส่งอินซูลินออกมาเรื่อยๆ จนอาจจะถึงภาวะอินซูลินมากเกินความต้องการ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดฮวบฮาบจนเกิดอาการวูบเอาได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนเร็วแล้วก็ยังเป็นการปูทางไปสู่โรคเบาหวานอีกด้วย

แคลอรี่สูง
นอกจากคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีจะให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยถึงน้อยมากที่สุดแล้ว ยังอุดมไปด้วยแคลอรี่และความหนาแน่นของพลังงานที่มาก ซึ่งก็เท่ากับว่า เพียงแค่กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีเข้าไปในปริมาณเล็กน้อย ก็จะได้รับจำนวนพลังงานแคลอรี่ที่มากเกินความต้องการของร่างกายตอบแทนมาทันที ซึ่งพลังงานแคลอรี่ที่ว่านี้ก็จะผันตัวเป็นน้ำตาลสะสมอยู่ในร่างกาย กลายเป็นชั้นไขมันรอบเอว ไขมันรอบต้นขา ต้นแขน และบั้นท้ายในที่สุด

ก่อโรคร้ายเรื้อรัง
เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีมีน้ำตาลสูง ไฟเบอร์น้อย และอุดมไปด้วยสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ อีกทั้งอาหารเหล่านี้ยังถูกพบว่ามีไขมันทรานส์อยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

ค่าดัชนีน้ำตาลสูง
อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีมักจะมีค่าดัชนีน้ำตาลค่อนข้างสูง ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบกับระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างมาก โดยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เร่งการผลิตอินซูลิน ซึ่งก็เป็นภาวะที่ไม่ดีต่อคนเป็นที่โรคเบาหวาน หรืออาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ทั้งนี้ค่าดัชนีน้ำตาล หรือ GI (Glycemic Index) ยังเป็นตัวชี้วัดความสามารถอาหารในการเปลี่ยนรูปคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลที่ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วแค่ไหนและมากแค่ไหน โดยค่า GI จะถูกเปรียบเทียบกับระดับกลูโคสในอัตรา 100 ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ถ้าค่าดัชนีน้ำตาลในอาหารสูง ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้นเร็ว แต่หากค่าดัชนีน้ำตาลในอาหารชนิดนั้นๆ ต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งตาม

หลักโภชนาการได้ระบุเกณฑ์ค่าดัชนีน้ำตาลดังต่อไปนี้

* ค่าดัชนีน้ำตาลไม่เกิน 55 จัดอยู่ในระดับต่ำ

* ค่าดัชนีน้ำตาลระหว่าง 56-69 จัดอยู่ในระดับปานกลาง

* ค่าดัชนีน้ำตาลตั้งแต่ 70-100 จัดอยู่ในระดับสูง

ตัวอย่างค่าดัชนีน้ำตาล(GI) ของอาหารบางชนิด
ประเภทอาหาร 
ปริมาณอาหาร

ค่าดัชนีน้ำตาล (GI)
ประเภทอาหาร 
ปริมาณ
อาหาร

ค่าดัชนีน้ำตาล (GI)
ข้าวขาวหุงสุก  150 กรัม  83 น้ำอัดลม (สีดำ)  250 มล.  63
ข้าวกล้องหุงสุก          150 กรัม  48 น้ำอัดลมรสส้ม  250 มล. 68
ขนมปังโฮลวีท 100%   30 กรัม 62 น้ำส้มแท้ไม่เติมน้ำตาล  250 มล.  54
ขนมปังขาว  30 กรัม 71 น้ำแอปเปิลแท้ไม่เติมน้ำตาล  250 มล.  39
ขนมปังโฮลเกรน 100%  30 กรัม  62 นมสดแท้ปราศจากไขมัน  250 มล.  32
พิซซ่าซูเปอร์สุพรีม  100 กรัม  36 นมรสหวาน  250 มล.  34
เค้กกล้วยหอม  60 กรัม  47 นมไขมันต่ำ  250 มล.  30
โดนัท  50 กรัม  75 นมถั่วเหลือง  250 มล.  30
ขนมปังเบอร์เกอร์            95 กรัม 66 นมช็อกโกแลต  250 มล.  35
มักกะโรนี  180 กรัม 47 โยเกิร์ตรสธรรมชาติ  40 กรัม 14
สปาเกตตี้ขัดสี  180 กรัม 46 โยเกิร์ตรสผลไม้  40 กรัม  36
สปาเกตตี้โฮลวีท  180 กรัม  37 เฟรนช์ฟรายส์  150 กรัม  75
เส้นเล็ก  180 กรัม 61 มันฝรั่งแผ่นอบกรอบ  50 กรัม  51
เส้นหมี่ขาว  180 กรัม  58 ถั่วอบกระป๋อง  150 กรัม  40
เส้นใหญ่  190 กรัม  90 เม็ดมะม่วง  50 กรัม  27
วุ้นเส้น  180 กรัม 45 ดาร์กช็อกโกแลตแท้   50กรัม                  27
คอนเฟลกส์  30 กรัม  74 ช็อกโกแลตแท้  50 กรัม  49
ข้าวโอ๊ต (เต็มเม็ด)  250 กรัม  55 ลูกอมรสช็อกโกแลตปราศจากน้ำตาล  50 กรัม   23
ข้าวโอ๊ต (ชนิดโรย)  250 กรัม 83 เค้กช็อกโกแลต  111 กรัม  38
เมล็ดควินัว  150 กรัม  53 ไอศกรีมไขมันต่ำ  50 กรัม  36
     
          จากตารางค่า GI ของอาหารแต่ละประเภทอาจดูอยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงปานกลาง แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถทานอาหารตามใจปากได้ เพราะแม้อาหารบางอย่างจะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำแต่ก็เพียบพร้อมไปด้วยแคลอรี่สูงมากพอจะทำให้น้ำหนักขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การรับประทานอาหารทุกชนิดซึ่งแม้จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ก็ควรจำกัดปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและหุ่นสวยยั่งยืนนะคะ

ที่มา: health.kapook.com

22 มิ.ย. 2560

อยากหุ่นดีต้องกินคาร์โบไฮเดรต


          ในปัจจุบันเทรนรักสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ผู้คนส่วนใหญ่หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น เห็นได้จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อีกทั้งบุคลิกภาพที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น การรักษารูปร่างให้ดูดี สมส่วน จึงเป็นสิ่งที่หลายคนปราถนา

อยากหุ่นดีเริ่มยังไง?

          หลายๆ คนมีความเชื่อที่ว่าถ้าอยากหุ่นดีควรกินน้อยๆ งดมื้อเย็น ตัดการกินคาร์โบไฮเดรตออกโดยการไม่กินแป้งเลยยิ่งดี ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เป็นที่ทราบกันดีว่า "คาร์โบไฮเดรต" คืออาหารหลัก 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การงดทานไปเลยจะช่วยให้น้ำหนักลดได้จริง แต่หลังจากนั้นจะมีผลเสียมากมายรออยู่ มาลองทำความเข้าใจกับ "คาร์โบไฮเดรต" อย่างถ่องแท้เพื่อลดน้ำหนักกันดีกว่าค่ะ

คาร์โบไฮเดรตไม่ใช่แค่ข้าวกับแป้ง

          ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคาร์โบไฮเดรตคือข้าว แป้ง ขนมปัง น้ำตาล แต่อันที่จริงยังมีอาหารอีกหลายประเภทที่มีแป้งแฝงอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น ผัก-ผลไม้ นม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำหวาน ธัญพืช ซึ่งถ้าใครคิดว่าจะงดแป้งด้วยการไม่ทานข้าว ขนมปัง น้ำตาล ก็อาจไม่สามารถลดความอ้วนได้จากการเผลอทานผัก-ผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง รวมทั้งน้ำหวาน

จริงๆ แล้วร่างกายต้องการคาร์โบไฮเดรตแค่ไหน ?

          คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารให้พลังงานที่สำคัญกับร่างกาย ให้ความอบอุ่น และช่วยทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำงานหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ในแต่ละวันเราต้องการคาร์โบไฮเดรต 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ควรทานคาร์โบไฮเดรตให้ได้ 150 กรัมเป็นอย่างน้อย ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมคือร้อยละ 60-65 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมด หรือประมาณ 200-300 กรัมต่อวัน แต่ถ้าใครเป็นคนชอบออกกำลังกาย มีกิจกรรมในแต่ละวันมากมาย ก็ควรทานคาร์โบไฮเดรตให้ได้มากขึ้น
          หากปริมาณคาร์โบไฮเดรตในร่างกายมีมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินนี้ให้อยู่ในรูปของไกลโคเจนและเก็บสะสมไว้ในร่างกาย เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินที่ร่างกายต้องการพลังงาน และมีมากจนเหลือใช้ก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ "พุง"

 ไม่ทานแป้งเลย ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ ?

          อ่านข้อข้างบนแล้วเห็นว่าถ้าทานแป้งมากๆ เดี๋ยวกลายเป็นไขมันสะสมที่พุง เลยคิดว่าการลดน้ำหนักแบบไม่ทานแป้งน่าจะได้ผล แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้ผลเสมอไป แล้วยังทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบแย่ๆ กลับมาด้วย เพราะอย่าลืมว่าร่างกายเราต้องการคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้พลังงานในแต่ละวัน ถ้าไม่ทานแป้งหรือทานน้อยเกินไป ร่างกายก็จะไม่มีพลังงานใช้ ในเมื่อหาไกลโคเจนจากคาร์โบไฮเดรตไม่ได้ก็ต้องไปย่อยสลายไกลโคเจนที่เก็บสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อมาเติมพลังงานแทน ดังนั้นการลดน้ำหนักเพราะงดแป้ง จริงๆ แล้วน้ำหนักที่ลดลงไปนั้นคือน้ำหนักของกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกายที่หายไปกับกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นนั่นเอง
          ทีนี้ เมื่อคนอดอาหาร กลับมาทานอาหารอีกรอบ ร่างกายก็จะรีบเก็บสะสมเอาไว้ เพราะกลัวว่าต่อไปจะไม่มีอาหารเหมือนคราวที่แล้ว แต่คราวนี้เราจะอ้วนง่ายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากช่วงที่เรางดแป้ง ได้ทำให้ระบบเผาผลาญอาหารทำงานช้าลงไปแล้ว เพราะเห็นว่าไม่มีอาหาร เมื่อเรากลับมาทานอาหารอีกครั้ง ระบบเผาผลาญอาหารก็ยังคงทำงานช้าอยู่เหมือนเดิม น้ำหนักจึงเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นที่มาของการ “โยโย่เอฟเฟกต์”

หักดิบไม่ทานแป้ง อันตรายกว่าที่คิด

นี่คือสารพัดปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ถ้าไม่ทานคาร์โบไฮเดรตหรือทานน้อยจนเกินไป
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย เพราะสมองและกล้ามเนื้อต้องการกลูโคสจากคาร์โบไฮเดรตมาช่วยในการทำงาน หากขาดคาร์โบไฮเดรตไปก็จะทำให้ขาดพลังงานด้วย
  • ร่างกายขาดเส้นใยอาหาร มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายตามมา
  • หิวโหยตลอดเวลา
  • ร่างกายไปดึงโปรตีนที่ใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อออกมาใช้เป็นพลังงานให้เราแทน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อเหลว ๆ ขึ้นในร่างกาย
  • รู้สึกหลง ๆ ลืม ๆ ความจำแย่ลง สมองไม่สดใส เพราะสมองขาดกลูโคสมากระตุ้นการทำงาน 
  • หงุดหงิด เครียด อารมณ์แปรปรวนง่าย เพราะคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารสำคัญต่อการผลิตเซโรโทนิน สารเคมีที่ช่วยรักษาความสมดุลของอารมณ์ในร่างกาย
  • มีกลิ่นปาก เพราะเมื่อร่างกายเผาผลาญไขมันแทนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า ภาวะคีโตซีส (Ketosis) จะปล่อยสารเคมีที่ชื่อว่า คีโตน (Ketones) ออกมาพร้อมกับลมหายใจ โดยเจ้าสารเคมีชนิดนี้มีกลิ่นที่ไม่ค่อยน่าชื่นชมเท่าไรด้วย

ถ้าไม่ควรงดคาร์โบไฮเดรต แล้วจะเลือกทานแบบไหนดี ?

แน่นอนว่าไม่ควรงดแป้งไปเลย แต่ควร "จำกัด" ปริมาณ และ "เลือก" ประเภทของคาร์โบไฮเดรตที่จะทานเข้าไป โดยคาร์โบไฮเดรตที่ควรทานคือ

          คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) เป็นประเภทที่ทานเข้าไปแล้ว ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว เช่น พืชผัก ข้าวซ้อมมือ ซีเรียล ธัญพืช ข้าวโอ๊ต พืชที่มีฝัก แต่ควรเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrates) เพราะทานแล้วร่างกายดูดซึมไปได้ทันที ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเร็ว ทานแล้วอ้วนง่าย อย่างเช่น น้ำตาลทราย ขนมต่างๆ ขนมเค้ก ขนมปังขัดขาว ข้าวขาว น้ำอัดลม นม ฯลฯ

          เลือกทานแป้งและน้ำตาลที่มีดัชนีไกลซีมิกต่ำ โดยดัชนี GI (Glycemic Index) เป็นตัววัดว่าอาหารพวกแป้งและน้ำตาลว่าจะมีผลต่อระดับของกลูโคสในเลือดอย่างไร นั่นคือถ้ามีค่าไกลซีมิกสูงเท่าไร ระดับกลูโคสในเลือดก็เพิ่มขึ้นเร็วเท่านั้น ซึ่งไม่ดี สำหรับอาหารที่มีค่าไกลซีมิกต่ำ ๆ ก็เช่น ถั่ว ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ สปาเกตตี้ ส่วนอาหารที่มีค่าไกลซีมิกสูง ก็อย่างเช่น ขนมปัง วาฟเฟิล แครกเกอร์ มันฝรั่ง พวกนี้ควรเลี่ยงถ้าต้องการลดน้ำหนัก

มีเคล็ดลับดี ๆ ช่วยให้ลดทานแป้ง (ไม่ดี) ได้ไหม ?

ถ้าตั้งใจจะลดน้ำหนักด้วยการลดปริมาณแป้ง โดยเลือกทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่ก็ยังกลัวว่าตัวเองจะเผลอทานแป้งที่ไม่ดีเข้าไป ลองดูวิธีเหล่านี้ค่ะ



- เปลี่ยนจากข้าวขาวเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ซึ่งไม่ขัดสี นอกจากจะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำแล้ว ก็ยังมีใยอาหารดี ๆ และวิตมินมากมาย ที่หาไม่ได้จากข้าวขาวด้วย

- เลือกขนมปังโฮลวีท สำหรับคนที่ชอบทานขนมปัง ขนมเค้ก แซนด์วิช ควรเปลี่ยนแป้งขนมปังขาว ๆ มาเป็นขนมปังโฮลวีทแทน พวกนี้มีไฟเบอร์สูงค่ะ

- ทานของว่างให้น้อยลง พอตกบ่ายแล้วชักหิว เลยหยิบขนม มันฝรั่งทอดมานั่งทาน ให้ห้ามใจตัวเองอย่าหยิบของพวกนั้นทาน แต่ถ้าขาดไม่ได้จริง ๆ ให้ทานนิดเดียว

- ถ้าเป็นคนชอบทานจุบจิบ ต่อไปให้เตรียมผลไม้หรือถั่วติดกระเป๋าไว้ เมื่อหิวก็หยิบของที่เราพกมาออกมาทาน ได้ประโยชน์กว่ากินขนมแน่นอน

- ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำผลไม้ นมปรุงแต่งรส น้ำอัดลม การดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ จะช่วยลดความอยากทานน้ำตาลได้

- ทานธัญพืช ผัก-ผลไม้ ให้มาก ๆ เพื่อเพิ่มกากใยอาหาร

          โดยสรุปก็คือ การทานแป้งไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อ้วน แต่ความอ้วนเกิดจากการทานอาหารที่ให้พลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่างหาก ยิ่งถ้าไม่ออกกำลังกายด้วย พลังงานที่เกินมาก็จะสะสมเป็นไขมัน ดังนั้นถ้าอยากลดความอ้วนให้ถูกวิธี และเห็นผลยั่งยืนแบบไม่ทำร้ายสุขภาพ ควรเลือกทานอาหารให้เหมาะ พร้อมกับออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายดึงพลังงานสะสมที่อยู่ในรูปไขมันออกมาใช้ จากนี้ก็สามารถทานแป้งได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวอ้วนอีกต่อไป

ที่มา: health.kapook.com

13 มิ.ย. 2560

ความลับของมือและเล็บสวย

มือเป็นอวัยวะที่แสดงสัญญาณแห่งความร่วงโรยของวัยได้เร็วกว่าใบหน้า อีกทั้งยังเป็นสัมผัสแรกของการแสดงความรู้สึก ผิวมือที่เนียนนุ่ม เต่งตึง จึงเป็นตัวบ่งบอกการใส่ใจในสุขภาพของเจ้าของมือ และอีกหนึ่งจุดที่เคียงคู่กับมือและละเลยไม่ได้คือเล็บ เพราะเล็บเป็นตัวบอกสุขภาพได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงควรดูแลมือและเล็บกันเป็นพิเศษ

การดูแลมือและเล็บที่ดีที่สุดควรใช้พลังธรรมชาติในการดูแล 

มะนาวเพิ่มผิวสดชื่น
ฝานมะนาวเป็นชิ้นผสมน้ำอุ่น แช่มือประมาณ 10-15 นาที กรดอ่อนๆของมะนาวจะช่วยให้มือนุ่ม และกลิ่นมะนาวช่วยให้สดชื่น อีกทั้งกลิ่นที่ติดมือก็ถูกกำจัดออกไปด้วย

น้ำมันมะพร้าวลดผิวหยาบกร้าน
ผสมน้ำมันมะพร้าวกับน้ำตาลกรวดบดละเอียด นวดมือเบาๆ เป็นวงกลม ล้างออกด้วยน้ำอุ่นแล้วซับมือด้วยผ้าเนื้อนุ่ม วิธีนี้ช่วยลดความหยาบกร้านและขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แต่ถ้าฝ่ามือหยาบเกินไป สามารถใช้เกลือป่นแทนน้ำตาลได้

กรดผลไม้ช่วยผิวเนียนนุ่ม
ใช้ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น สับปะรด หรือมะละกอ ในการช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม เนื่องจากในผลไม้รสเปรี้ยวจะมีกรดที่ช่วยทำความสะอาดหนังกำพร้าและยังมีสารที่ช่วยทำให้เกิดความนุ่ม คั้นผลไม้เฉพาะน้ำ  1 ช้อนโต๊ะผสมกับไข่แดงครึ่งช้อนชา ที่มีโปรตีนเพื่อเป็นการปรับสภาพผิว คนให้เข้ากัน ทาบนฝ่ามือทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออก จะได้มือที่เนียนนุ่มน่าสัมผัส

ผิวขาวใสด้วยน้ำส้มคั้น
ใช้น้ำส้มคั้นและน้ำผึ้งในปริมาณที่เท่ากัน ผสมแล้วนำมาทามือเป็นประจำ วิตมินซีในน้ำส้มคั้นจะช่วยปรับสภาพผิวให้กระจ่างใส และน้ำผึ้งยังช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น นอกจากบำรุงมือแล้วสูตรนี้สามารถใช้กับในหน้าได้อีกด้วย

นมอุ่นกระตุ้นการไหลเวียน
นมสดอุ่นๆ 1/2 ถ้วยผสมกับโยเกิร์ตและน้ำตาลทรายอย่างละ 2 ช้อนชา นำส่วนผสมดังกล่าวมาผสมกันในภาชนะแล้วนำมือลงไปแช่ประมาณ 7-10 นาที นมสดอุ่นจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียน เป็นการช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของมือที่ถูกใช้งานมาโดยตลอด

โลชั่นเพื่อการบำรุง
อีกหนึ่งวิธีการดูแลมือง่ายๆ เป็นการลดความยุ่งยากในการเตรียมวัตถุดิบในการดูแลและบำรุงมือ เพียงเลือก Hand Cream ที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ 100% เพื่อมอบคุณค่าแห่งการบำรุงโดยไม่ต้องกังวลถึงสารเคมี  ในโลชั่นที่ดีควรประกอบด้วยสารสกัดจากมอยส์เจอร์ไรเซอร์เข้มข้น อาทิ สารสกัดจากเชียร์บัตเตอร์ ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นลดความแห้งกร้านให้กับผิว เก็บกักน้ำหล่อเลี้ยงใต้ผิวเพื่อความเต่งตึงไม่มีริ้วรอยแห่งวัย แต่ที่สำคัญที่สุด ต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำร้ายให้ผิวแห้ง และเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร